วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ยานอวกาศจีนเทียบท่าสำเร็จ!
ยานอวกาศ 'เสิ่นโจว-8' ของจีนประสบความสำเร็จในการทดลองเทียบท่ากับ โมดูล 'เทียนกง-1' ที่โคจรเหนือผิวโลกได้เป็นครั้งแรก ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ในโลกที่มีเทคโนโลยีเทียบท่า และเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นสู่เป้าหมายการสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง

3 พ.ย.54 ยานเสิ่นโจว-8 เทียบท่ากับโมดูล เทียนกง-1 ซึ่งเป็นห้องทดลองในอวกาศห้องแรกที่ระดับความสูงจากพื้นผิวโลก 343 กม. เมื่อเวลา 01.36 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีบรรดาผู้นำจีน เช่น นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า และรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เข้าชมการถ่ายทอดสด ที่ศูนย์ควบคุมการบินยานอวกาศในกรุงปักกิ่ง

ขณะที่ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ซึ่งอยู่ในฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี 20 ได้ส่งสารแสดงความยินดี และอวยพรให้ภารกิจทั้งหมดในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ พร้อมกับระบุว่า ความสำเร็จของการทดสอบเทคโนโลยีการเทียบท่าของยานอวกาศครั้งนี้ มีความสำคัญต่อโครงการพัฒนาสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนที่มี 3 เฟสในอนาคต

การเทียบท่าเป็นขั้นตอนที่ยากลำบาก โดยยานทั้งสอง ซึ่งต่างมีน้ำหนักลำละเกือบ 8 ตัน และโคจรด้วยความเร็ว 7.8 กม.ต่อวินาที จะต้องเข้าเชื่อมต่อกันอย่างนิ่มนวล เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันทำให้เกิดความเสียหาย และต่อจากนี้ยานทั้งสองจะโคจรรอบโลกด้วยกันภายใต้การควบคุมการบินของโมดูล เทียนกง-1 นาน 12 วัน จากนั้นจะแยกตัวออกห่างกันเป็นระยะ 140 เมตร เพื่อทดสอบการเทียบท่าอีกเป็นครั้งที่สอง และเมื่อการเทียบท่าทั้งหมดประสบความสำเร็จตามแผน จีนก็จะเดินหน้าส่งยานอวกาศอีก 2 ลำ คือ เสิ่นโจว-9 และ เสิ่นโจว-10 ซึ่งจะมีนักบินอวกาศประจำยานอย่างน้อยลำละ 1 คน ไปเทียบท่าในปีหน้า

จากนั้นจะส่งโมดูลขึ้นไปอีก 2 ลำ เพื่อการทดสอบอื่น ๆ ก่อนจะเริ่มสร้างสถานีอวกาศจริง ในปี 2563 แบ่งเป็น 3 ระยะ แล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งสถานีอาจมีน้ำหนักราว 60 ตัน เล็กกว่าสถานีอวกาศนานาชาติในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น